วากาชิ คือขนมหวานแบบดั่งเดิมของญี่ปุ่น มาจากคําว่า วะ ที่แปลว่าญี่ปุ่น รวมกับคําว่า คาชิ ที่แปลว่าขนม ส่วนผสมหลักคือ ถั่วแดงและแป้งข้าวเหนียว มักรับประทานคู่กับน้ําชา วันนี้ akatommychong จะมาเล่าเรื่องวากาชิ ที่คนไทยหลายๆคนน่าจะรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ใน 7 ขนมหวานแบบดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น
วากาชิ 7 ขนมหวานแบบดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น
1. Daifuku
ไดฟุกุเป็นขนมที่เป็นแป้งโมจิปั้นเป็นก้อนกลมมีไส้เป็นถั่วแดง คําว่า ไดฟุกุ มาจากคําว่า ได แปลว่าใหญ่ และ ฟุกุ แปลว่าโชคดี ชาวญี่ปุ่นจึงเชื่อกันว่าหากรับประทานไดฟุกุแล้วจะโชคดีมาก เชื่อว่าไดฟุกุมาจากขนมชื่อว่า อุซึระโมจิ ซึ่งเป็นขนมที่มีรูปร่างเหมือนนกกระทาในยุคเอโดะ
ขนมนี้ได้ถูกทําให้เล็กลงและเรียกว่า Harabuto Moji แปลว่าขนม Moji ที่ทําให้ท้องโตเพราะมีถั่วแดงเป็นส่วนประกอบจึงทําให้อิ่มท้องและยังมีชื่ออีกว่าไดฟุกุซึ่งยังมีความหมายตามเดิม ต่อมาก็ได้เปลี่ยนตัวอักษรคันจิจากฟุคคุที่แปลว่าท้องให้กลายเป็นฟุคุที่แปลว่าโชคดี
ปัจจุบันไดฟุกุได้มีการดัดแปลงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ปั้นเป็นรูปการ์ตูนและมีไส้อื่นๆมากมาย เช่น สตรอว์เบอร์รี ช็อกโกแลต วิปครีม ไอศครีม ผลไม้ต่างๆ
2. Dango
ดังโงะคือแป้งข้าวเจ้าที่ปั้นเป็นทรงกลมนําไปทําให้สุกแล้วเสียบไม้ดังโงะมีต้นกําเนิดมาจากขนมโมทากะซึ่งเป็นขนมของอินเดียที่ใช้ในพิธีบูชาพระพิฆเนศ ในอดีตดังโงะเป็นขนมที่ใช้ในพิธีบูชาเทพเจ้า การทําดังโงะจึงต้องปั้นให้เป็นทรงกลมที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อให้เทพเจ้าพึงพอใจเนื่องจากแป้งข้าวเจ้าเป็นของหายากจึงต้องใช้ส่วนผสมอื่นๆทําดังโงะ เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ลูกเดือย เป็นต้น
จึงทําให้ดังโงะในแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไป ในญี่ปุ่นมีดังโงะหลายประเภท เช่น มิตะราชิดังโงะ (Mitarashi Dango) ซึ่งเป็นดังโงะที่ราดด้วยน้ําเชื่อมรสชาติหวานปนเค็ม ต้นกําเนิดมาจากโรงน้ําชาชื่อคาโมะ มิตะราชิ ที่อยู่ในเกียวโต
ฮานามิดังโงะ (Hanami Dango) ซึ่งเป็นดังโงะสามลูกที่มีสีชมพู ขาว และสีเขียว มักรับประทานเมื่อชมดอกซากุระและยังมีสํานวนญี่ปุ่นที่กล่าวว่า ดังโงะดีกว่าดอกไม้ ซึ่งมีความหมายว่าสิ่งที่มีประโยชน์ ย่อมดีกว่าสิ่งที่สวยงามเพียงอย่างเดียว
3. Sakura Mochi
ซากุระโมจิ เป็นขนมที่เป็นแป้งโมจิสีชมพูสอดไส้ถั่วแดงกวนห่อด้วยใบซากุระแช่เกลือ เป็นขนมที่รับประทานกันในฤดูใบไม้ผลิ ซากุระโมจิมีอยู่สองประเภท คือ โชเมจิ (Cho-meiji Mochi) ที่แป้งโมจิมีรูปร่างเหมือนเครป ซากุระโมจิแบบโชเมจิเกิดขึ้นเมื่อปี 1717 ที่วัดโชเมจิ ได้มีการนําใบซากุระที่หล่นอยู่มากมายมาปรุงรสด้วยเกลือและนํามาห่อเครปและถั่วแดงกวน ขนมนี้ได้นําไปขายที่วัดโชเมจิและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในภูมิภาคคันโต
ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ โดเมียวจิ (Do-myojo Mochi) ที่แป้งโมจิจะเป็นเม็ดและมีสัมผัสกรุบกรอบ ซากุระโมจิแบบโดเมียวจิเกิดขึ้นที่วัดโดเมียวจิ ที่นี่ได้มีการถนอมอาหารที่เรียกว่า แป้งโดมเมียวจิ ซึ่งเป็นการนําข้าวไปแช่แล้วหุง จากนั้นก็ทําให้แห้ง แล้วนําไปบด ต่อมาก็ได้มีการนําแป้งโดเมจิมาห่อถั่วแดง แล้วห่อด้วยใบซากุระปรุงรสด้วยเกลือ จึงเกิดเป็นซากุระโมจิและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในภูมิภาค คันไซ
4. Dorayaki
โดรายากิเป็นแพนเค้ก 2 ชิ้น ประกบกัน มีไส้เป็นถั่วแดง คําว่า โดรายากิ มาจากคําว่า โดระ แปลว่า ฆ้อง และ ยากิ แปลว่า ย่าง เพราะขนมชนิดนี้เกิดจากการนําแป้งมาย่างบนฆ้องและขนมนี้ก็มีรูปร่างกลมเหมือนฆ้องด้วย ประวัติของโดรายากิก็เริ่มต้นตั้งแต่ยุคเฮอัน ซามูไรคนหนึ่งชื่อ Saito Musashibo Benkkei เขาได้หลบซ่อนตัวที่บ้านของชาวนาและทิ้งฆ้องไว้ ชาวนาจึงได้นําฆ้องนั้นมาทอดแป้ง
ส่วนโดรายากิแบบที่คุ้นเคยกันนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 1904 ที่ร้านขายขนมชื่อว่า อุซางิยะห์ ที่ย่านอุเทโนะ เมืองโตเกียว เจ้าของร้านได้ทําขนมที่แป้งฟูนุ่มคล้ายกับเค้กและมีรูปร่างกลมสองอันประกบกัน โดยมีถั่วแดงกวนเป็นไส้ตรงกลาง ปัจจุบันโดรายากิมีไส้ต่างๆมากมาย เช่น ช็อกโกแลต วิปครีม คัสตาร์ด หรือไส้ชาเขียว
5. Taiyaki
ทายากิเป็นเค้กที่มีรูปทรงเป็นปลาข้างในมีไส้ถั่วแดง คําว่า ทายากิ มาจากคําว่า ไทย ซึ่งก็คือปลาไทยหรือปลากะพงแดงญี่ปุ่น และยากิ แปลว่า ย่าง ประวัติของทายากิเกิดขึ้นเมื่อปี 1909 ที่เมืองโตเกียวชายชาว Osaka คนหนึ่งชื่อ คัมเบ เซจิโร่ เขาได้ขายขนมชื่อว่า อิมังงะวะยากิ (Imagawayaki) ซึ่งเป็นขนมรูปร่างกลมสอดไส้ถั่วแดงแต่ขายไม่ได้เลย เขาจึงทําขนมเป็นรูปปลาไทย ซึ่งเป็นปลามงคลในความเชื่อของญี่ปุ่นปรากฏว่าขายดีเป็นอย่างมาก
นอกจากญี่ปุ่นแล้วยังมีขนมรูปปลาสอดไส้ถั่วแดงในประเทศเกาหลีด้วย ซึ่งชื่อว่า Bungeo-Ppang ในปัจจุบันทายากิได้มีการดัดแปลงเป็นหลากหลายรูปแบบ เช่น ทําเป็นโคลนของไอศกรีมและยังมีไส้ต่างๆมากมาย เช่น ช็อกโกแลต คัสตาร์ด ชีส หรือไส้มันหวาน
6. Yokan
โยคังหรือที่รู้จักกันในชื่อวุ้นญี่ปุ่น เป็นขนมที่ทําจากถั่วแดงใส่เจลาติน มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า คําว่า โยคังมาจากคําว่าหยางเกิงในภาษาจีน แปลว่าซุปเนื้อแกะ เพราะเมื่อซุปเนื้อแกะเย็นตัวลงเจลาตินจะทําปฏิกิริยาทําให้ซุปแข็งตัวจนกลายเป็นวุ้น ซุปเนื้อแกะจากจีนเข้ามาในญี่ปุ่นในยุคคามาคูระมิโรมาจิ โดยพระสงฆ์ที่ไปศึกษาต่อที่จีนแต่พระไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้จึงเปลี่ยนมาใช้ถั่วแดงกวนแทนเนื้อสัตว์จากที่เคยเป็นอาหารของพระสงฆ์ ต่อมาโยคังก็ได้มีการดัดแปลงให้กลายเป็นขนมหวานที่ทุกคนสามารถรับประทานได้ เนื่องจากโยคังมีรสชาติที่หวานจัดชาวญี่ปุ่นจึงมักรับประทานโยคังคู่กับน้ําชา
7. Manjuu
มันจูคือขนมที่ทําจากแป้งสาลี มีไส้ข้างในเป็นถั่ว มันเทศ หรือเก๋าลัด ปั้นเป็นทรงกลมและนําไปนึ่ง คําว่า มันจู มาจากคําว่า หมั่นโถว ในภาษาจีน ซึ่งเป็นแป้งสาลีนึ่ง ต้นกําเนิดของมันจูย้อนไปถึงช่วงศตวรรษที่14 หมั่นโถวจากจีนได้เข้ามาในญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นเรียกหมั่นโถวว่า หมั่นจู ซึ่งในยุคนั้นมีไส้เป็นเนื้อสัตว์ ซึ่งพระสงฆ์ก็ไม่สามารถรับประทานได้จึงได้เปลี่ยนเป็นไส้ถั่วแดงแทน แต่ละภูมิภาคได้มีการทํามันจูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โมเมจิมันจู (Momiji Manju) ซึ่งเป็นมันจูรูปใบเมเปิ้ลไส้ถั่วแดงเป็นขนมประจําถิ่นของเกาะมิยาจิม่า เมืองฮิโรจิม่า และยังมี Jumangoku Manju ซึ่งเป็นรูปทรงกระบอกสีขาว ไส้ถั่วแดง เป็นขนมที่มีชื่อเสียงในเมืองไซตามะ
วากาชิมักจะมีขนาดเล็กแต่ด้วยหน้าตาที่สวยงาม รสชาติที่หวานอร่อย รวมถึงสามารถดัดแปลงส่วนผสมได้ แม้ว่าจะเป็นขนมโบราณวากาชิจึงไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมไปแล้วทั่วโลกด้วย